ผู้อ่านคงพอทราบกันดีว่า Artificial Intelligence (AI) หรือ ปัญญาประดิษฐ์ ก็คือโปรแกรมที่เขียนขึ้นมาเพื่อให้คอมพิวเตอร์ทำงานและเรียนรู้สิ่งต่างๆ ได้อย่างอัจฉริยะ สามารถสั่งการได้ด้วยวิธีเดียวกับที่เราสื่อสารระหว่างมนุษย์ด้วยกันเอง อีกทั้งยังคำนวณสิ่งที่มนุษย์ทั่วไปอย่างเราทำไม่ได้ภายในระยะเวลาสั้นๆ
เทคโนโลยี AI ไม่ใช่เป็นเรื่องใหม่ แต่ถูกพัฒนาตามลำดับมาหลายสิบปีต่อเนื่อง “ปัญญาประดิษฐ์” เป็นส่วนหนึ่งในด้านวิทยาการคอมพิวเตอร์ เป็นความชาญฉลาดที่สร้างขึ้นให้กับสิ่งที่ไม่มีชีวิต ที่เกี่ยวพันกับระบบที่คิดเหมือนมนุษย์ ระบบที่กระทำเหมือนมนุษย์ระบบที่คิดอย่างมีเหตุผลและระบบที่กระทำอย่างมีเหตุผล โดยมีการแตกแขนงการพัฒนาออกเป็นจำนวนมากมีคำนิยามของปัญญาประดิษฐ์มากมายหลากหลาย ซึ่งสามารถจัดแบ่งออกเป็น 4 ประเภทโดยมองใน 2 มิติ ได้แก่
- ระหว่าง นิยามที่เน้นระบบที่เลียนแบบมนุษย์ กับ นิยามที่เน้นระบบที่ระบบที่มีเหตุผล (แต่ไม่จำเป็นต้องเหมือนมนุษย์)
- ระหว่าง นิยามที่เน้นความคิดเป็นหลัก กับ นิยามที่เน้นการกระทำเป็นหลัก
ปัจจุบันงานวิจัยหลักๆ ของ AI จะมีแนวคิดในรูปที่เน้นเหตุผลเป็นหลัก เนื่องจากการนำ AI ไปประยุกต์ใช้แก้ปัญหา ไม่จำเป็นต้องอาศัยอารมณ์หรือความรู้สึกของมนุษย์ อย่างไรก็ตามนิยามทั้ง 4 ไม่ได้ต่างกันโดยสมบูรณ์ นิยามทั้ง 4 ต่างก็มีส่วนร่วมที่คาบเกี่ยวกันอยู่
นิยามดังกล่าวคือ
- ระบบที่คิดเหมือนมนุษย์ (Systems that think like humans)
– ปัญญาประดิษฐ์ คือ ความพยายามใหม่อันน่าตื่นเต้นที่จะทำให้คอมพิวเตอร์คิดได้ซึ่งเครื่องจักรที่มีสติปัญญาอย่างครบถ้วนและแท้จริง (“The exciting new effort to make computers think … machines with minds, in the full and literal sense.” [Haugeland, 1985])
– ปัญญาประดิษฐ์ คือ กลไกของกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับความคิดมนุษย์ เช่น การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การเรียนรู้ (“[The automation of] activities that we associate with human thinking, activities such as decision-making, problem solving, learning.” [Bellman, 1978])
- หมายเหตุ ก่อนที่จะทำให้เครื่องคิดอย่างมนุษย์ได้ ต้องรู้ก่อนว่ามนุษย์มีกระบวนการคิดอย่างไร ซึ่งการวิเคราะห์ลักษณะการคิดของมนุษย์ เป็นศาสตร์ด้าน cognitive science เช่น ศึกษาการเรียงตัวของเซลล์สมองในสามมิติ ศึกษาการถ่ายเทประจุไฟฟ้า และวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงทางเคมีไฟฟ้าในร่างกาย ระหว่างการคิด ซึ่งจนถึงปัจจุบัน (พ.ศ. 2548) เราก็ยังไม่รู้แน่ชัดว่า มนุษย์เรา คิดได้อย่างไร
- ระบบที่กระทำเหมือนมนุษย์ (Systems that act like humans)
– ปัญญาประดิษฐ์ คือ วิชาของการสร้างเครื่องจักรที่ทำงานในสิ่งซึ่งอาศัยปัญญาเมื่อกระทำโดยมนุษย์ (“The art of creating machines that perform functions that requires intelligence when performed by people.” [Kurzweil, 1990])
– ปัญญาประดิษฐ์ คือ การศึกษาวิธีทำให้คอมพิวเตอร์กระทำในสิ่งที่มนุษย์ทำได้ดีกว่าในขณะนั้น (“The study of how to make computers do things at which, at the moment, people are better.” [Rich and Knight, 1991])
- หมายเหตุ การกระทำเหมือนมนุษย์ เช่น
- สื่อสารได้ด้วยภาษาที่มนุษย์ใช้ เช่น ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ ตัวอย่างคือ การแปลงข้อความเป็นคำพูด และ การแปลงคำพูดเป็นข้อความ
- มีประสาทรับสัมผัสคล้ายมนุษย์ เช่น คอมพิวเตอร์รับภาพได้โดยอุปกรณ์รับสัมผัส แล้วนำภาพไปประมวลผล
- เคลื่อนไหวได้คล้ายมนุษย์ เช่น หุ่นยนต์ช่วยงานต่าง ๆ อย่างการ ดูดฝุ่น เคลื่อนย้ายสิ่งของ
- เรียนรู้ได้ โดยสามารถตรวจจับรูปแบบการเกิดของเหตุการณ์ใด ๆ แล้วปรับตัวสู่สิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไปได้
- ระบบที่คิดอย่างมีเหตุผล (Systems that think rationally)
– ปัญญาประดิษฐ์ คือ การศึกษาความสามารถในด้านสติปัญญาโดยการใช้โมเดลการคำนวณ (“The study of mental faculties through the use of computational model.” [Charniak and McDermott, 1985])
– ปัญญาประดิษฐ์ คือ การศึกษาวิธีการคำนวณที่สามารถรับรู้ ใช้เหตุผล และกระทำ (“The study of the computations that make it possible to perceive, reason, and act” [Winston, 1992])
- หมายเหตุ คิดอย่างมีเหตุผล หรือคิดถูกต้อง เช่น ใช้หลักตรรกศาสตร์ในการคิดหาคำตอบอย่างมีเหตุผล เช่น ระบบผู้เชี่ยวชาญ
- ระบบที่กระทำอย่างมีเหตุผล (Systems that act rationally)
– ปัญญาประดิษฐ์คือการศึกษาเพื่อออกแบบเอเจนต์ที่มีปัญญา (“Computational Intelligence is the study of the design of intelligent agents” [Poole et al., 1998])
– ปัญญาประดิษฐ์ เกี่ยวข้องกับพฤติกรรมที่แสดงปัญญาในสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (“AI … is concerned with intelligent behavior in artifacts” [Nilsson, 1998])
- หมายเหตุ กระทำอย่างมีเหตุผล เช่น เอเจนต์ (โปรแกรมที่มีความสามารถในการกระทำ หรือเป็นตัวแทนในระบบอัตโนมัติต่าง ๆ) สามารถกระทำอย่างมีเหตุผลเพื่อบรรลุเป้าหมายที่ได้ตั้งไว้ เช่น เอเจนต์ในระบบขับรถอัตโนมัติ ที่มีเป้าหมายว่าต้องไปถึงเป้าหมายในระยะทางที่สั้นที่สุด ต้องเลือกเส้นทางที่ไปยังเป้าหมายที่สั้นที่สุดที่เป็นไปได้ จึงจะเรียกได้ว่า เอเจนต์กระทำอย่างมีเหตุผล อีกตัวอย่างเช่น เอเจนต์ในเกมหมากรุก ที่มีเป้าหมายว่าต้องเอาชนะคู่ต่อสู้ ก็ต้องเลือกเดินหมากที่จะทำให้คู่ต่อสู้แพ้ให้ได้ เป็นต้น
AI ในระดับของสติปัญญาต่างๆ
มีการแบ่งหรือจำแนก AI ออกมาเป็นหลายๆแบบ ตามคุณลักษณะต่างๆของ แต่การแบ่ง AI ตามระดับความสามารถและสติปัญญาดูจะเข้าใจง่ายและใช้กันแพร่หลาย ซึ่งมีการจำแนกออกเป็น 3 ระดับดังนี้
- Artificial Narrow Intelligence (ANI) หรืออาจจะเรียกว่า Weak AI ซึ่งเป็น AI “ปัญญาประดิษฐ์” :ซึ่งมีระดับระดับสติปัญญาที่มีความสามารถในการทำงานได้ในเรื่องแคบๆอยู่ในวงจำกัด เรื่องใดเรื่องหนึ่ง เช่นในปี 1997 IBM สร้างคอมพิวเตอร์เครื่องแรกที่สามารถเอาชนะแชมป์หมากรุกได้ ในยุคปัจจุบัน Google สามารถสร้างรถยนต์ไร้คนขับได้ SIRI ของแอปเปิ้ลสามารถสื่อสารพูดคุยกับคนได้ นั่นก็สามารถทำได้เพียงแต่แค่นั้น มันยังคงไม่มีความสามารถ และมีสติปัญญาคิดไปทำอย่างอื่นในขอบเขตที่กว้างไกลใกล้เคียงมนุษย์ได้
- Artificial General Intelligence (AGI) อาจเรียกว่า Strong AI ซึ่งเป็นสติปัญญาเทียบเท่ามนุษย์ เป็น AI ปัญญาประดิษฐ์ ที่ความสามารถในการทำงานได้เทียบเท่ากับสมองมนุษย์ ในปัจจุบันเรายังไม่สามารถสร้าง AGI ได้ แต่ศาสตราจารย์Linda Gottfredson ได้อธิบายว่า AGI ปัญญาประดิษฐ์ในระดับนี้เป็นความสามารถทั่วไปเกี่ยวกับจิตใจความนึกคิดมากกว่าอย่างอื่น โดยจะเกี่ยวข้องกับ ความสามารถในการเรียนรู้ วางแผน การแก้ปัญหา รู้จักคิดในเชิงนามธรรม มีความคิดที่สลับซับซ้อน เรียนรู้ได้เร็ว เรียนรู้จากประสบการณ์ โดยปัญญาประดิษฐ์ในระดับ AGI จะสามารถทำได้อย่างง่ายดายเหมือนกับที่มนุษย์ทำได้
- Artificial Superintelligence (ASI) เราอาจเรียก ASI ซุปเปอร์ปัญญาประดิษฐ์ มีปัญญาเหนือมนุษย์Nick Bostrom จากออกฟอร์ดซึ่งเป็นนักปรัชญาและผู้นำด้านความคิดด้าน AI ให้คำจำกัดความของ ASI ว่ามันจะฉลาดและมีปัญญามากกว่าสมองมนุษย์ที่ดีที่สุดในทุกๆด้าน รวมไปถึงความคิดสร้างสรรค์ในทางวิทยาศาสตร์ เรื่องทั่วๆไป แม้กระทั่งความสามารถในการเข้าสังคม
ตอนต่อไปเราจะมาดูความสามารถของ Artificial Intelligence (AI) ว่าสามารถทำอะไรได้บ้าง
www.ecloudtec.com
http://www.8066.com.tw